หิน
วัฏจักรหิน
นักธรณีวิทยาแบ่งหินออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะของการเกิด ได้แก่ หินอัคนี หินตะกอน และหินแปร เมื่อหินหนืดร้อนภายในโลก (Magma) และ หินหนืดร้อนบนพื้นผิวโลก (Lava) เย็นตัวลงกลายเป็น “หินอัคนี” (Igneous rocks) ลมฟ้าอากาศน้ำ แสงแดด และสิ่งมีชีวิต ทำให้หินผุพังสึกกร่อนเป็นตะกอนทับถมกัน เป็นเวลานานหลายล้านปี แรงดันและปฏิกิริยาเคมีทำให้เกิดการรวมตัวเป็น “หินตะกอน” (Sedimentary rocks) การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกและความร้อนจากแมนเทิลใต้เปลือกโลก ทำให้เกิดการแปรสภาพเป็น “หินแปร” (Metamorphic rocks) กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นวงรอบเรียกว่า “วัฏจักรหิน” (Rock cycle) อย่างไรก็ตามกระบวนการของวัฏจักรหินไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามที่กล่าวมาแล้ว การเปลี่ยนแปลงของหินอาจเกิดขึ้นย้อนกลับไปมาได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม
ประเภทของหิน
1 หินอัคนี (Igneous rock)
หินที่เกิดจากการแข็งตัวของแมกมาจากใต้เปลือกโลกที่แทรกตัวขึ้นมา เราแบ่งหินอัคนีตามแหล่งที่มาเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 หินอัคนีแทรกซอน (Intrusive igneous rock) เป็นหินที่เกิดจากหินหนืดที่เย็นตัวลงภายในเปลือกโลกอย่างช้าๆทำให้ผลึกแร่มีขนาดใหญ่และมีเนื้อหยาบ เช่น หินแกรนิตหินไดออไรต์ และหินแกบโบร
1.2 หินอัคนีพุ (Extrusive igneous rock) บางทีเรียกว่า หินภูเขาไฟ เป็นหินหนืดที่เกิดจากลาวาบนพื้นผิวโลกเย็นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลึกมีขนาดเล็ก และเนื้อละเอียด เช่นหินบะซอลต์ หินไรออไรต์ และหินแอนดีไซต์
ตัวอย่างหินอัคนี
หินแกรนิต granite

https://www.siamtak.com/granite
ลักษณะ: เนื้อขนาดปานกลางถึงเนื้อหยาบ ลวดลายและสีสันนั้นบนเนื้อหิน จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะภูมิประเทศและแร่ธาตุต้นกำเนิดที่มีอยู่มากใน บริเวณนั้นๆ เช่น สีเทา สีเขียว สีแดง ฯลฯ
การนำไปใช้ประโยชน์: นำมาปูพื้นอาคาร, ปูผนัง, ทำขั้นบันได, ทำเคาน์เตอร์ครัว, เคาน์เตอร์ห้องน้ำ เป็นต้น
พบที่: จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง เป็นต้น
2. หินตะกอน (sedimentary rock)
หินที่เกิดจากการตกตะกอนของเม็ดแร่ที่ได้จากการผุพังของหินชนิดใดก็ได้ที่ผิวโลกและถูกพัดพาไปโดยนํ้า ลม หรือธารน้ำแข็งแล้วจับตัวกันแข็งเป็นหิน หรือ เกิดจากการตกตะกอนทางเคมีของสารละลายจากในน้ำ ในลำธารทะเลหรือมหาสมุทรเนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมีหรือการระเหยของน้ำ ที่อุณหภูมิปกติบนผิวโลก ลักษณะเด่นของหินตะกอน คือ การเกิดเป็นชั้นหลายๆชั้น อาจมีซากดึกดำบรรพ์หรือแสดงลักษณะโครงสร้างของการตกตะกอนตามลำดับอายุ แบ่งกลุ่มของหินตะกอนได้ 3 ชนิดใหญ่ๆได้ คือ
2.1 หินตะกอนชนิดแตกหลุด หรือ Clastic (sedimentary ) Rocks หมายถึง หินตะกอนที่ประกอบด้วยมวลอนุภาคที่แตกหลุดและพัดพามาจากที่อื่นบางที่เรียกว่า Terrigenous (sedimentary) Rocks หรือ Detrital rocks เช่นหินทราย
2.2 หินตะกอนชนิดตกผลึก หรือ Chemical (sedimentary) Rocks หมายถึง หินตะกอนที่เกิดจากกรตกผลึกจากสารละลายทางเคมี ณ อุณหภูมิต่ำ บางทีเรียกว่า Precitated (sedimentary) Rocks หรือ Nonclastic rocks เช่นหินปูน
2.3 หินตะกอนอินทรีย์ หรือ Biological (sedimentary) rocks หมายถึงหินตะกอนที่เกิดจากการสะสมสารอินทรีย์วัตถุโดยส่วนใหญ่หรือ Organic (sedimentary) Rocks เช่นถ่านหิน
ตัวอย่างหินตะกอน
หินทราย (sandstone)
ลักษณะ: เนื้อหยาบ คล้ายทรายทั้งก้อน มักมีสีนํ้าตาล
ประโยชน์: ใช้ทำหินลับมืด ใช้แกะสลัก ก่อสร้าง
พบที่: จังหวัดเพชรบุรี นครราชสีมา เป็นต้น
3. หินแปร (Metamorphic rock)
หินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของเนื้อหิน(Texture) จาก เดิมไปเป็นหินชนิดใหม่ใต้ผิวโลกซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงความดันและอุณหภูมิในสภาพที่ยังเป็นของแข็ง อาจมีส่วนประกอบใหม่มาเพิ่มหรือไม่ก็ได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเรียกว่าการแปรสภาพ(Metamorphism) แบ่งการแปรสภาพออกเป็น 4 ประเภท คือ
1.การแปรสภาพสัมผัส (Contactmetamorphism) เป็นการแปรสภาพเพราะความร้อน เกิดขึ้น ณ บริเวณที่หินหนืดร้อนหรือแมกมาแทรกดันขึ้นมาสัมผัสกับหินท้องถิ่น ความร้อนจากแมกมาทำให้หินท้องถิ่นแปรสภาพผิดไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น เมื่อหินปูนได้รับความร้อนจากหินอัคนีแทรกซอนซึ่งเกิดขึ้นจากแมกมาก็จะแปรสภาพเป็นหินอ่อน
ภาพที่ 1 การแปรสภาพสัมผัส
2.การแปรสภาพบริเวณไพศาล (Regional metamorphism) เป็นการแปรสภาพของหินซึ่งเกิดเป็นบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลเนื่องจากอุณหภูมิและความกดดัน โดยปกติการแปรสภาพแบบนี้จะไม่มีความเกี่ยวพันกับมวลหินอัคนี และมักจะมี “ริ้วขนาน” (Foliation) มองเห็นเป็นแถบลายสลับสี บิดตัวแบบลูกคลื่น ซึ่งพบในหินชีสต์ หินไนส์ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการตกผลึกใหม่ของแร่ในหินริ้วขนานที่เกิดขึนอาจแยกออกได้เป็นแผ่น และมีผิวหน้าเรียบเนียน เช่น หินชนวน
ภาพที่ 2 การแปรสภาพบริเวณไพศาล
3.การแปรสภาพแบบบด (Fault metamorphism) เกิดขึ้นบริเวณรอยเลื่อน แรงเสียดทานที่เกิดจากแผ่นธรณีเคลื่อนที่ผ่านกันทำให้เกิดความร้อนและความดันสูง หินแปรที่เกิดขึ้นโดยวิธีนี้่ ได้แก่ หินไมโลไนต์ หินกรวดเหลี่ยมบด
4.การแปรสภาพด้วยน้ำร้อน (Hydrothermal Metamorphism) เกิดขึ้นเมื่อน้ำที่ได้รับความร้อนจากหินอัคนีแทรกซอน นำพาประจุให้แทรกซึมเข้าไปในรอยแตกของหิน ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีกับแร่บางชนิดให้เปลี่ยนสภาพไป เช่น แร่เฟลด์สปาร์เปลี่ยนสภาพเป็นแร่เซริไซต์หรือดินขาว แร่ฮอร์นเบลนด์เปลี่ยนสภาพเป็นแร่คลอไรต์ เป็นต้น
ตัวอย่างหินแปร
หินชนวน (Slate)
ลักษณะ: เนื้อละเอียดมาก ผลึกมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีได้หลากสีแต่มักสี เทา ดำ เขียว แดง
ประโยชน์: ในการนำมาปูทำหลังคา กระดานดำ และทางเท้า
พบที่: จังหวัดกาญจนบุรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น